คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ซึ่งชาวโลกเฝ้าติดตาม ได้มีการประกาศผลออกมาแล้ว ผู้ร่วมคว้ารางวัลโนเบล สันติภาพ ประจำปี 2557 นี้ ได้แก่ มาลาลา ยูซาฟไซ หญิงสาวชาวปากีสถาน วัย 17 ปี และนายไกลาศ สัตยาธี ชาวอินเดีย วัย 60 ปี ในฐานะที่บุคคลทั้งสองเป็นนักรณรงค์ด้านการศึกษา พยายามต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิของเด็กๆ ในปากีสถานและอินเดียให้มีโอกาสได้เรียนหนังสือ โดยมาลาลา นับเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ซึ่งปี 2013 ที่ผ่านมา เธอชวดรางวัลนี้ไปอย่างน่าเสียดาย แต่ปีนี้เธอก็ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้อย่างเป็นที่น่าภูมิใจ ถือเป็นรางวัลต่อมวลมนุษยชาติที่น่าชื่นชมเป็นที่สุด
มาลาลา ยูซาฟไซ เธอมีหัวใจที่เข้มแข็งและกล้าหาญ ที่ผ่านมาเธอต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาท่ามกลางความรุนแรงภายในประเทศ จน มาลาลา ได้ถูกมือปืนฏอลิบาน (Taliban) ยิงศรีษะจนเกือบเสียชีวิต แต่เธอก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้ด้วยความหวังที่ว่าจะให้เด็กหญิงทั่วโลกได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน
ด้วยหัวใจที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยวทรงพลังของเธอนั้นเป็นประจักษ์แก่สายตาของคนทั่วโลก และนี่เองทำให้ มาลาลา ยูซาฟไซ ถูกเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2013 ซึ่งการที่เธอได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้ สะท้อนให้เห็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของสตรี ในเรื่องการศึกษา และเพื่อประชาธิปไตยที่ประชาชนในชาติทุกคนพึงได้รับอย่างเท่าเทียมไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นหญิงหรือชาย และอีกเหตุการณ์ที่คนทั่วโลกต่างปรบมือชื่นชมในจิตใจนักสู้ของเธอก็คือ การกล่าวสุนทรพจน์ บนเวทีเวทีสหประชาชาติ ซึ่งบทสุนทรพจน์ที่เธอได้กล่าวนั้นย้ำให้ถึงจุดยืนที่มุ่งมั่นในแนวทางที่จะใช้การศึกษาเป็นอาวุธในการประกาศสงคราม(ปัญญา)เพื่อต่อสู้กับความรุนแรงของผู้ก่อการร้ายที่เคยหมายมั่นจะเอาชีวิตเธอ
” ผู้ก่อการร้ายคิดว่าพวกเขาจะสามารถเปลี่ยนแปลงความปราถนามุ่งมั่นของฉันได้ พวกเขาไม่รู้เลยว่าในชีวิตฉันมีเพียงความอ่อนแอ ความหวาดกลัว และความสิ้นหวังเท่านั้นที่เปลี่ยน แต่ความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยวและพลังความกล้าหาญได้เกิดขึ้นมาแทน”
“ให้เราได้มีโอกาสหยิบสมุดและปากกาของพวกเราขึ้นมา เพราะพวกมันเป็นอาวุธสำคัญที่พวกเรามี เด็กหนึ่งคน ครูหนึ่งคน และหนังสือหนึ่งเล่ม สามารถเปลี่ยนโลกใบนี้ได้ การศึกษาเป็นคำตอบ การศึกษาต้องมาก่อน”
คำกล่าวสุนทรพจน์(บางส่วน)ของ มาลาลา ยูซาฟไซ บนเวทีสหประชาชาติ ปี 2012
แต่น่าแปลกใจที่ชาวปากีสถานเอง กลับไม่ขานรับกับการที่เธอลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิการศึกษาให้เด็กและสตรีที่ถูกริดรอน ยิ่งไปกว่านั้นชาวปากีสถานกลับมองว่าการกล่าวสุนทรพจน์ของเธอบนเวทีสหประชาชาตินั้นเป็นเพียงฉากละครหนึ่งเท่านั้น!
อย่างไรก็ตามแม้ว่าชาวปากีสถานจะไม่เห็นคุณค่าอันสิ่งใหญ่ในสิ่งที่เธอได้พยายามต่อสู้ แต่ในสายตาของคนทั้งโลกแล้ว เสียงเรียกร้องของเธอนั้นยิ่งใหญ่และน่ายกย่องชื่นชมเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลต่างๆมากมาย อาทิ รางวัลสิทธิมนุษยชนเพื่ออิสรภาพของผู้หญิงนานาชาติ ( Simone de Beauvoir Prize, International Human Rights Prize for Women’s Freedom, 2013) และรางวัลเยาวชนเพื่อสันติภาพแห่งชาติ (National Youth Peace Prize,2011) และ มาลาลา ถือเป็นคนแรกของปากีสถานที่ได้รับรางวัลนี้ นอกจากนี้นิตยสาร TIME ได้จัดให้มาลาลาได้รับเลือกเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลอันดับสองแห่งปี 2012 รองจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา และจากที่เธอต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อนั้นทำให้ สหประชาชาติ ได้ถือเอาวันที่ 12 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดครบ 16 ปี ของมาลาลา ประกาศให้วันนี้เป็น “วันมาลา” (Malala Day) หรือวันเพื่อการศึกษาของเด็กทั่วโลก
“ฉันไม่รังเกียจที่จะนั่งที่พื้นของโรงเรียน สิ่งที่ต้องการสำหรับฉัน คือ การได้เรียนหนังสือ และฉันไม่เกรงกลัวใครที่จะแสดงออกเช่นนี้”
จากการกระทำของ มาลาลา ยูซาฟไซ สาวน้อยนักสุู้หัวใจสิงห์ ทำให้เราเห็นภาพของการต่อสู้ที่เด็ดเดี่ยวของเด็กผู้หญิงวัยรุ่นคนหนึ่งที่ผ่านอะไรมามากมาย เกินกว่าชีวิตวัยรุ่นธรรมดาทั่วไป ซึ่งเธอไม่แสดงความเปราะบาง อ่อนแอ หรือโอนอ่อนต่อความอยุติธรรมและอุปสรรคเลยแม้แต่น้อย แต่กลับมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ที่จะให้เด็กและสตรีในปากีสถานได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม
เมื่อมองการกระทำของ มาลาลา ยูซาฟไซ เป็นตัวอย่างแล้วเราก็ได้แต่ตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วตัวเราล่ะ เราได้ทำประโยชน์หรือสร้างคุณค่าอะไรต่อคนรอบข้างหรือสังคมบ้างแล้วหรือยัง เราแข็งแกร่งและเด็ดเดี่ยวได้ครึ่งหนึ่งของเธอไหม ถึงอย่างไรดิฉันก็เชื่ออย่างหนึ่งนะคะว่าการเริ่มต้นทำสิ่งดีๆ แม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็กๆในวันนี้มันก็สามารถสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกันนะคะ อย่ารีรอที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้สังคมและโลกใบนี้กันนะคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น