ในมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ ไกลห่างออกไปจากชายฝั่งฟิลิปปินส์ไปทางตะวันออก หรือว่าง่ายๆ อยู่กึ่งกลางทางระหว่างฮาวายกับฟิลิปปินส์ หรือว่าง่ายๆ คือทางใต้ลงมาจากหมู่เกาะ มิดเวย์ ที่เคยมียุทธการเรืออันลือลั่นระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ หมู่เกาะมาร์แชลล์ (Marshall Islands) หรือ สาธารณรัฐมาร์แชลล์ ตั้งอยู่บริเวณนั้น-เหนือเส้นศูนย์สูตร หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้ตั้งโครงการหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า ปฏิบัติการครอสโรดส์ (Operation Crossroads) วัตถุประสงค์เพื่อทดลองระเบิดนิวเคลียร์ยังดินแดนโพ้นทะเลในแปซิฟิกที่อยู่ใต้อาณัติของพวกเขา เกาะแห่งหนึ่งได้รับเกียรตินั้น ชื่อพิกินนี่ (Pikinni) ในภาษามาร์แชลล์ และบิกินี (Bikini) ในภาษาอังกฤษ อันหมายถึงเกาะที่มั่งคั่งด้วยมะพร้าว
การทดลองเกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 1946 ลูกแรกในการทดสอบชื่อ เอเบิล (Able) โดยจุดระเบิดเหนือกลางอากาศก่อนถึงผิวน้ำราว 160 เมตร และอีกครั้งในอีกสามสัปดาห์ถัดมา กับเจ้า เบเกอร์ (Baker) ที่จุดระเบิดใต้ผิวน้ำลงไป 27 เมตร ในการทดสอบมีการนำเรือจำนวนมากมาลอยลำทั้งเรือที่ปลดระวางแล้วของสหรัฐฯ เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ และเรือที่ยึดได้จากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แน่นอนว่ามีเรือญี่ปุ่นหลายต่อหลายลำที่ยึดได้ในน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิก มีการนำรถถังและยุทโธปกรณ์อื่นไปจัดวางไว้บนเรือ รวมถึงเครื่องบินรบ สัตว์จำนวนหนึ่งก็เข้าไปอยู่ในขบวนการการทดลองนี้ด้วย เพื่อศึกษาผลกระทบที่มีต่อสิ่งมีชีวิต
ผลการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งแรกจมเรือได้ 6 ลำ และครั้งที่ 2 จมเรือได้ 8 ลำ ภาพนิ่งและวีดิโอบันทึกไว้ ทั้งในมุมสูงและจากตัวเกาะบิกินีอันเป็นที่ตั้งของหอสังเกตการณ์ ที่ห่างออกไปราว 6 กิโลเมตร กลุ่มควันขนาดใหญ่พวยพุ่งเป็นดอกเห็ดยักษ์บนอากาศ อากาศบริเวณที่จุดระเบิดมีอุณหภูมิถึง 55,000 องศาเซลเซียส
ในปี 1949 โซเวียตมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นด้านนิวเคลียร์ ตามมาด้วยสงครามเกาหลีในปีต่อมา สงครามเย็นเริ่มก่อตัว สหรัฐฯต้องการโชว์การพัฒนาอาวุธ และจากประสบการณ์การรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขามองว่านิวเคลียร์คือคำตอบ มหาสมุทรแปซิฟิกคือยุทธศาสตร์สำคัญ หมู่เกาะมาร์แชลล์เป็นตัวเลือกแรก เกิดสารพิษปนเปื้อนทั้งในน้ำและผืนดินของเกาะใกล้เคียง แม้จะมีการยืนยันว่าได้รับการปกป้องรังสีเป็นอย่างดี จากการศึกษาพบว่าอายุขัยของผู้ที่เข้าร่วมชมปฏิบัติการลดลง 3 เดือน สารกัมมันตรังสีกระจายในวงกว้างกว่าที่สหรัฐฯจะคาดคิด นักเคมีที่เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการพลังงานนิวเคลียร์ได้กล่าวถึงเบเกอร์หรือการทดลองในครั้งที่สองว่า “มันคือจุดเริ่มต้นความวิบัติของโลก”
เกาะบิกินีแต่เดิมมีประชากรอยู่เกือบหนึ่งพันคน มีการอพยพเคลื่อนย้ายผู้คนไปยังเกาะรอนเกอร์ค (Rongerik) ที่ห่างออกไปสองร้อยกิโลเมตร และทุกคนเชื่อว่าตนเองจะได้กลับบ้านในไม่ช้า ปรากฏว่าพวกเขาไม่สามารถดำรงตนอยู่ได้ อาหารขาดแคลน ดินลงพืชไม่งอกงาม ไม่มีแหล่งน้ำจืดพอเพียง มีกระแสกดดันจากประเทศต่างๆ แต่สหรัฐฯไม่สนใจ จนกระทั่ง ดร. ลีโอนาร์ด เมสัน (Leonard Mason) จากมหาวิทยาลัยฮาวายไปที่นั่น และได้บอกกับชาวโลกว่า พวกคนบนเกาะกำลังจะอดตาย ปลาเหลือน้อยและที่ได้ก็มีสารพิษ หากว่าใครกินเข้าไปจะตายได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ห่างไกลออกไปราวสามร้อยกิโลเมตร ที่เกาะรอนเกแลป (Rongelap) ซึ่งคาดว่าน่าจะปลอดภัย สามวันให้หลังการทดสอบนิวเคลียร์ พื้นดินถูกฉาบเคลือบด้วยเถ้าละอองหนากว่า 2 เซนติเมตร ทุกคนมีอาการแสบคันผิวหนัง อาเจียน ปวดท้องรุนแรง คอ แขน ขา บวม พวกเขาถูกเคลื่อนย้ายออกโดยเร็ว
แต่ก่อนหน้านั้น 90 นาทีหลังการทดลอง เรือประมงญี่ปุ่นพบกับเถ้าถ่านเหล่านั้นก่อนแล้ว
ในท้องทะเลแปซิฟิก ทั้งหมดกลายเป็นคนป่วยทันทีที่เถ้าเหล่านั้นปลิวมาถูกร่างกายและหายใจรับมันเข้าไป 11 คนเสียชีวิตหลังจากมีอาการป่วยไม่นานหลังขึ้นฝั่ง 1 มีนาคม ค.ศ. 1954 กองทัพสหรัฐฯทดสอบประสิทธิภาพนิวเคลียร์อีกครั้ง และเป็นครั้งสุดท้าย มีชื่อว่า คาสเซิล บราโว (Castle Bravo) ซึ่งสามารถมองเห็นได้ออกไปไกลถึง 400 กิโลเมตร เพียงสิบนาทีหลังจากการระเบิด ควันดอกเห็ดพุ่งสูงถึง 40 กิโลเมตร และกว้างถึง 100 กิโลเมตร กัมมันตภาพรังสีได้กระจายเป็นวงกว้างกว่า 11,000 ตารางกิโลเมตร
ปี 1968 ปธน. ลินดอน บี.จอห์นสัน ได้รับคำแนะจากเหล่านักวิทยาศาสตร์ว่าที่เกาะบิกินีปลอดภัยแล้ว คนที่อพยพมาอยู่บนเกาะสามารถกลับไปยังถิ่นฐานได้เริ่มมีการย้ายกลับไปที่เกาะบิกินีในปี 1970 ทว่าภายหลังผลการทดสอบอีกครั้งพบว่ายังมีสารพิษปนเปื้อนทั้งในแหล่งน้ำจืดที่มีน้อยนิด และหน้าดิน ผลกระทบหลังการทดลอง ปะการัง แหล่งที่ปลาชุกชุมเสียหายพินาศไปเกือบ 70% นกประจำถิ่นสาบสูญ หลังผ่านไปนานนับสิบปี ปูตามหาดและมะพร้าวบนเกาะยังพบว่ามีสารเคมีปนเปื้อน จนแล้วจนรอดพวกเขาก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไป
สัตว์กว่า 40 สายพันธุ์สาบสูญสิ้นเชิง และเกือบ 30 สายพันธุ์นั้นหาได้เฉพาะแถบนี้!
ก่อนหน้าที่บ้านเกิดพวกเขาจะถูกใช้เป็นสถานทดลองอาวุธ ชาวเกาะประเทศมาร์แชลล์มีอาชีพหลักสองประเภท หนึ่ง-ส่งออกมะพร้าวแห้ง สอง-จับปลา พวกเขาอยู่กันอย่างสงบสุข เป็นนักหาปลาตัวฉกาจ สายเบ็ดจากกาบมะพร้าวและตัวเบ็ดจากเปลือกหอย ปลูกและกินพืชพื้นเมือง พวกเขาจัดว่าเป็นนักเดินเรือที่หาตัวจับยากอีกกลุ่มหนึ่งของโลกไม่ต่างจากพวกโพลินีเซีย จากเกาะสู่เกาะไปเรื่อยๆ จนเชื่อว่าพวกเขาน่าจะมาถึงดินแดนมาเลเซียในปัจจุบัน ดินแดนโพ้นทะเลเหล่านี้ชาวตะวันตกไม่รู้จักพวกเขา จนคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อสเปนผ่านมา มองเป็นแค่จุดจอดเรือและเติมเสบียง และบรรยายว่า คนเหล่านี้ดูป่าเถื่อน ผู้ชายไม่มีอาภรณ์ท่อนบน ท่อนล่างนุ่งใบเตยแห้งสวมไว้คล้ายกระโปรง และหญิงทั้งเด็กและชราเดินเปลือยกาย นมไกวไปมาชวนเวียนหัว บ้านเรือนปลูกสร้างอย่างง่ายคล้ายบังกะโลในตะวันตก
ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ศาสนาคริสต์เริ่มมาปักหลัก พอถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 หมู่เกาะมาร์แชลล์รวมถึงเกาะต่างๆ ในภูมิภาคไมโครเนียก็ตกเป็นของเยอรมนีด้วยกองทัพเรืออูที่ทรงประสิทธิภาพก่อนจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ และโลกของผู้ชนะแบ่งสรรจัดการปกครองกันใหม่ ญี่ปุ่นรับดูแลในชื่อว่า อาณานิคมแห่งหมู่เกาะแปซิฟิก จนเมื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นใช้มันเพื่อเป็นจุดสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวทางทะเลของอเมริกา
เกาะบิกินีมีประวัติศาสตร์มายาวนาน เคยมีตำแหน่ง lrojj ปกครอง ถ้าจะเรียกว่าหัวหน้าเผ่าก็ดูน้อยเกินไป ออกจะคล้ายๆ ราชา-ราชินีมากกว่า แต่หลังจากที่หมู่เกาะมาร์แชลล์ได้รับเอกราชแยกตัวออกมา ความสำคัญแบบดั้งเดิมก็เริ่มหมดไป ประเทศมาร์แชลล์มีการเลือกตั้งแบบรัฐสภา และมีประธานาธิบดี
ปัจจุบัน เกาะบิกินีแทบจะไร้ร้างผู้คนอยู่อาศัย ผืนดินยังมีสารกัมมันตรังสีอยู่มากแต่ทว่าสภาพเกาะและปะการังเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น อันเนื่องจากที่ไม่ค่อยมีคนไปยุ่มย่ามนี่เอง มีทริปการไปดำน้ำดูเศษซากของเรือที่จมลงก้นทะเล และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ เมื่อครั้งสหรัฐฯ มาใช้พื้นที่เพื่อการทดลองสร้างรายได้ให้กับหมู่เกาะมาร์แชลล์ ผู้อพยพหรือทายาทอยู่ได้ด้วยเงินจากกองทุนที่อเมริกาจัดตั้งขึ้น โดยจะได้รับคนละ 550 ดอลลาร์ต่อปี
ทว่าปรากฏการณ์สืบเนื่องจากการทดลองมิจบลงเพียงเท่านั้น มันยังชี้นำไปสู่ชุดว่ายน้ำบิกินีวิศวกรยานยนต์นาม หลุยส์ รีอาร์ด (Louis Reard) ที่ดำเนินงานชุดชั้นในต่อจากมารดา ร่วมมือกับจากส์ ไฮม์ (Jacques Heim) ดีไซเนอร์ในกรุงปารีส คิดรูปแบบใหม่ของชุดว่ายน้ำโดยแบ่งเป็นสองชิ้น โดยเปิดตัวครั้งแรกในนาม อาโตเม (Atome) โดยมีแนวคิดมาจากการทดลองของรัฐบาลสหรัฐฯ ในแปซิฟิก เพื่อสื่อถึงพลังอันร้อนแรงของผู้สวมใส่ ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อชุด Bikini หลุยส์เชื่อว่าการเปิดเผยเนื้อหนังจะสร้างปฏิกิริยาตื่นตัว-เร่าร้อนต่อผู้พบเห็น ในเบื้องต้นนั้นพวกเขาไม่สามารถหานางแบบมาสวมใส่ได้ จนนักเต้นเปลือยถังแตกจากคลับดังของปารีสมารับงาน เจ้าชุดว่ายน้ำที่เล็กที่สุดในโลกจึงได้อวดโฉมแก่ชาวปารีส
1949 หนังสือพิมพ์ ลอสแอนเจลิส ไทมส์ ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของมิสอเมริกาคนล่าสุดที่ไปเยือนฝรั่งเศส เธอกล่าวว่า “ถ้าสาวๆ ปารีสต้องการสวมใส่มันก็ตามสบาย แต่ดิฉันยังไม่เปลี่ยนใจ”
นอกจากเป็นจุดกำเนิดชื่อชุดว่ายน้ำแล้ว ณ ที่แห่งนี้เองที่เป็นที่ปรากฏกายครั้งแรกของก็อตซิลลา คนว่างงานในวงการฮอลลีวูดจำนวนหนึ่งเคยวิเคราะห์ว่า ที่ญี่ปุ่นเลือกสถานที่แห่งนี้ให้เป็นจุดกำเนิดนั้นมีนัยสำคัญ เกาะบิกินีกับการทดลองนิวเคลียร์ บิกินีกับจุดเริ่มต้นความตึงเครียดด้านอาวุธ บิกินีให้กำเนิดความเลวร้าย/อธรรม และแน่นอนญี่ปุ่นจะหมายความเป็นอื่นไม่ได้นอกจากสหรัฐอเมริกาผู้เป็นตัวชั่วร้ายนั่นเอง
เกาะบิกินี เกาะมฤตยู เกาะนรก หรือเกาะต้นกำเนิดอธรรม...จากเรื่องราว มันก็น่าอยู่หรอก.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น