หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

นาซาค้นพบครั้งใหญ่! ยังมีน้ำไหลบนดาวอังคาร



ภาพจากนาซาแสดงร่องรอยมีน้ำไหลบนดาวอังคารในปัจจุบัน (NASA/JPL/University of Arizona)

นาซาประกาศการค้นพบครั้งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ หลักฐานจากยานอวกาศที่โคจรรอบดาวอังคารยืนยันยังคงมีน้ำไหลอยู่บนดาวอังคารอยู่ในปัจจุบัน และอาจน้ำไปสู่การค้นพบสิ่งมีชีวิตบนดาวแดงเพื่อนบ้านของโลก
      
       องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) แถลงการค้นพบครั้งสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์จากสำนักงานใหญ่ในวอชิงตัน สหรัฐฯ เมื่อเวลา 22.30 น.วันที่ 28 ก.ย.2015 ตามเวลาประเทศไทยว่า พบหลักฐานจากยานมาร์สเรคองเนซองส์ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter) หรือเอ็มอาร์โอ (MRO) ที่นาซาส่งไปโคจรรอบดาวอังคาร ซึ่งยืนยันหนักแน่นว่ายังคงมีน้ำไหลอยู่บนดาวอังคารในปัจจุบัน
      
       ทางด้านรอยเตอร์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ภาพจากยานอวกาศดังกล่าว และพบมีน้ำที่มีเกลือไหลบนพื้นผิวดาวอังคารเมื่อหน้าร้อนปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มโอกาสที่ดาวเคราะห์เพื่อนบ้านจะเป็นแหล่งให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ และได้เผยแพร่การค้นพบนี้ลงวารสารวิชาการในวันเดียวกับการแถลงข่าว
      
       ขณะที่ข่าวเผยแพร่จากนาซาระบุว่า นักวิจัยได้ใช้ภาพที่บันทึกด้วยกล้องบนยานเอ็มอาร์โอตรวจพบสัญญาณเกลือแร่ที่มีโมเลกุลน้ำบริเวณที่ลาดชัน ซึ่งปรากฏเป็นริ้วปริศนาบนดาวอังคาร โดยริ้วมืดจากภาพนั้นปรากฏให้เห็นว่าลดลงและไหลเป็นสายตลอดเวลา
      
       ระหว่างฤดูร้อนริ้วดังกล่าวยิ่งดำขึ้นและไหลลงทางลาดชัน และในช่วงฤดูหนาวริ้วดังกล่าวมีสีจางลง ริ้วเหล่านี้ปรากฏในหลายพื้นที่บนดาวอังคาร เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า -23 องศาเซลเซียส และหายไปเมื่ออุณหภูมิเย็นลง
      
       "ภารกิจของบนเราดาวอังคารคือตามหาน้ำเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตในเอกภพ และตอนนี้เราก็มีหลักฐานยืนยันว่าสิ่งที่เราสงสัยนั้นได้คำตอบแล้ว นี่เป็นก้าวที่สำคัญ เมื่อปรากฏชัดเจนว่าน้ำ แม้จะเป็นน้ำเกลือก็ตาม กำลังไหลอยู่บนพื้นผิวดาวอังคารทุกวันนี้" จอห์น กรันฟิล์ด (John Grunsfeld) ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกอำนวยการปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของนาซากล่าวระหว่างแถลงข่าว
      
       สายธารเชิงเขาเหล่านี้มีชื่อว่าเส้นลาดชันอาร์เอสแอล (recurring slope lineae: RSL) ซึ่งมักถูกระบุว่า มีโอกาสที่จะเป็นน้ำของเหลว ซึ่งการค้นพบเกลือมีน้ำบนพื้นที่ลาดชันชี้ถึงสิ่งที่อาจสัมพันธ์ต่อริ้วสีดำ โดยเกลือมีน้ำอาจจะลดจุดเยือกแข็งของน้ำเกลือเหมือนเกลือบนโลกที่ช่วยละลายหิมะและน้ำแข็งบนถนนได้เร็วขึ้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เหมือนกระแสใต้พื้นผิวตื้นๆ ที่มีน้ำมากพอจะซึมสู่พื้นผิว ทำให้เกิดเป็นริ้วสีดำในภาพ
      
       รอยเตอร์รายงานอีกว่า แม้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแหล่งกำเนิดและองค์ประกอบทางเคมีของน้ำดังกล่าว แต่การค้นพบค้นพบนี้จะเปลี่ยนความคิดของนักวิทยาศาสตร์ว่าดาวเคราะห์เพื่อนบ้านนี้เหมือนดาวเคราะห์โลกในระบบสุริยะที่มีจุลินทรีย์อาศัยอยู่ใต้เปลือกโลก
      
       "มันบ่งบอกว่าอาจจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารในทุกวันนี้" กรันฟิล์ดให้ความเห็น
 ส่วน จิม กรีน (Jim Green) ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของนาซา กล่าวว่า ดาวอังคารไม่ใช่ดาวเคราะห์ที่แห้งแล้งและไม่น่าสนใจอย่างที่เราคิดกันที่ผ่านมา ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มั่นคง น้ำของเหลวได้ถูกค้นพบบนดาวอังคาร
      
       ทว่านาซาก็ไม่รีบร้อนที่ค้นหาว่าน้ำเกลือที่เพิ่งค้นพบนั้นมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่หรือไม่ โดยกรันฟิล์ดให้ความเห็นว่าถ้าเขาเป็นจุลินทรีย์ก็คงไม่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ค้นพบ แต่จะอาศัยอยู่ทางเหนือหรือใต้มากกว่าบริเวณที่พบน้ำเกลือ และจะอยู่ให้ลึกลงไปใต้พื้นผิวมากๆ ซึ่งจะพบน้ำจืดได้มากกว่า
      
       "เราแค่สงสัยว่าแหล่งอาศัยแบบนั้นมีอยู่ และเราก็มีหลักฐานบางประการว่ามีแหล่งแบบนั้น" กรันฟิล์ดกล่าว
      
       การค้นพบน้ำไหลนี้เกิดขึ้นเมื่อนักวิทยาศาสตร์พัฒนาเทคนิคใหม่เพื่อวิเคราะห์และทำแผนที่องค์ประกอบเคมีบนดาวอังคารโดยใช้ยานเอ็มอาร์โอของนาซา และได้พบลักษณะสำคัญของเกลือที่เกิดขึ้นเฉพาะในน้ำที่มีอยู่ตอนนี้ในช่องแคบๆ ที่ตัดผ่านหน้าผาบริเวณเส้นศูนย์ของดาวอังคาร
      
       สำหรับพื้นที่ลาดชันดังกล่าวถูกพบครั้งแรกเมื่อปี 2011 ปรากฏระหว่างเดือนในหน้าร้อนของดาวอังคาร แล้วหายไปเมื่ออุณหภูมิต่ำลง และคุณลักษณะทางเคมีบ่งบอกถึงเกลือที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ ตอนนั้นนักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าริ้วดังกล่าวเกิดจากการตัดผ่านของน้ำ แต่ก่อนหน้านี้ยังไม่สามารถวัดได้อย่างแน่ชัด
      
       "ตอนนั้นผมไม่คิดว่าจะมีหวัง" ลุเชนทรา โอชา (Lujendra Ojha) นักศึกษาปริญญาโทสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย (Georgia Institute of Technology) และนักวิจัยหลักผู้เขียนรายงานการค้นพบดังกล่าวบอกแก่รอยเตอร์
      
       ทั้งนี้ เนื่องจากยานเอ็มอาร์โอได้วัดข้อมูลระหว่างช่วงร้อนที่สุดของวันบนดาวอังคาร นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าร่องรอยใดๆ ของน้ำ หรือคุณลักษณะจากเกลือแร่มีน้ำจะระเหยไป อีกทั้ง เครื่องมือวัดองค์ประกอบเคมีบนยานโคจรยังไม่สามารถเก็บรายละเอียดของริ้วแคบๆ ที่กว้างไม่ถึง 5 เมตรได้
      
       ทว่าโอชาและคณะได้สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถตรวจสอบแต่ละพิกเซลหรือหน่วยภาพได้อย่างละเอียด จากนั้นใช้ข้อมูลดังกล่าวสร้างภาพที่มีความละเอียดสูงขึ้น และเหล่านักวิทยาศาสตร์ได้พุ่งความสนใจไปที่ริ้วที่กว้างที่สุด ที่ตรงกับตำแหน่งและการตรวจพบเหลือมีน้ำ 100%
      
       "การค้นพบนี้ยืนยันว่าน้ำกำลังแสดงบทบาทต่อลักษณะเหล่านี้" อัลเฟร็ด แม็คอีเวน (Alfred McEwen) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) กล่าว
      
       อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าเกลือแร่เหล่านั้นดูดซับไอน้ำโดยตรงจากชั้นบรรยากาศบางเบาของดาวอังคาร หรือมีแหล่งน้ำแข็งละลายอยู่ใต้ดิน แต่ไม่ว่าแหล่งน้ำจะมาจากที่ใด รอยเตอร์ระบุว่ามุมมองต่อดาวอังคารก็เปลี่ยนไปเป็นบวกมากขึ้น จากที่เคยมองกันว่าดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่หนาวเย็นและแห้งกรัง กลับกลายเป็นดาวเคราะห์ที่ปัจจุบันสิ่งมีชีวิตอาจอาศัยอยู่ได้
      
       ถึงอย่างนั้นแมคอีเวนกล่าวว่ายังต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบเคมีมากกว่านี้ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะสรุปเช่นนั้นได้ โดยระบุว่าไม่ใช่เพราะมีน้ำเท่านั้นที่บ่งบอกว่าดาวเคราะห์นั้นสามารถอาศัยอยู่ได้ อย่างน้อยต้องมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ บนดิน
      
       ขณะเดียวกันคิวริออซิตี (Curiosity) ยานโรเวอร์ของนาซาที่กำลังวิ่งสำรวจบนพื้นผิวดาวอังคาร ก็พบหลักฐานว่าดาวอังคารมีองค์ประกอบและแหล่งอาศัยเหมาะสมสำหรับจุลินทรีย์ที่มีอยู่ได้ในอดีตบางช่วงที่ผ่านมา
      
       ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบว่าดาวอังคารเปลี่ยนจากดาวที่อบอุ่น มีน้ำอุดมและคล้ายคลึงกับโลกมาเป็นดาวที่หนาวเหน็บและแห้งแล้งเหมือนทะเลทรายในทุกวันนี้ได้อย่างไร โดยเมื่อหลายพันล้านปีก่อนดาวอังคารที่ขาดสนามแม่เหล็กปกป้อง ได้สูญเสียชั้นบรรยากาศปริมาณมหาศาลไป และมีหลายการศึกษาที่กำลังประเมินว่าน้ำบนดาวอังคารหายไปมากแค่ไหน และยังเหลืออีกเท่าไรในแหล่งน้ำแข็งใต้ดิน
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น