น้ำพุร้อน ปามุคคาเล (pamukkale) แดนมหัศจรรย์ขาวพร่างอยู่บนเนินเขาในตุรกี แหล่งน้ำล้ำค่าใต้ซากเมืองเก่าของชาวกรีกและโรมัน
เมื่อครั้งที่ริชาร์ด แซนด์เลอร์ นักวิชาการด้านกรี-โรมันชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียง รอนแรมผ่านเอเชียไมเนอร์ในปี ค.ศ.1765 ปามุกกาเลแรกเห็นเป็นเนินสีขาวกว้างใหญ่อยู่ไกลๆ ครั้งใกล้เข้าไปเขาถึงกับ “ตะลึง” ในสิ่งซึ่งดูเหมือน “น้ำตกเล็กๆ มากมายที่กลายเป็นน้ำแข็ง ระลอกคลื่นบนพื้นผิวนั้นดูราวกับน้ำที่แข็งตัวในทันใด หรือสายน้ำที่พวยพุ่งกลับกลายเป็นหินในฉับพลันทันที”
นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่ไปเยือนภาคตะวันตกของตุรกีต่างอัศจรรย์ใจกับปามุกกาเลเช่นกัน เมื่อเห็นลานหินสีขาวขอบกลมมนเหมือนเปลือกหอยซับซ้อนลดหลั่น ห้วงน้ำกว้างสะท้อนแผ่นผาที่ดูเป็นปุยนุ่ม กับบรรดาม่วนหินย้อยที่เหมือนน้ำตกน้ำแข็งรายรอบทั่วบริเวณซอกหินดุจเสาบอบบางแทรกแซมด้วยต้นยี่โถสีแดงสดตรงนั้นตรงนี้ เทือกเขาคลุมด้วยต้นสน มืดทะมึนตระหง่านอยู่ข้างหลัง เป็นฉากที่ขับเน้นให้ประติมากรรมสีขาวยิ่งเปล่งประกายพราวพร่างใต้แสงแดดกระจ่าง
ชื่อปามุกกาเล แปลว่า “ปราสาทฝ้าย” แม้ในตำนานท้องถิ่นจะเล่าว่าพวกยักษ์ในสมัยโบราณใช้แนวเนินเหล่านี้ตากปุยฝ้ายที่เก็บมา ก็มีผู้แย้งว่าชื่อนี้น่าจะมาจากรูปลักษณ์ที่ดูเป็นปุยนุ่มของแผ่นผาและเนินหินที่นี่มากกว่า
แผ่นผา เนินลาดและม่านหินย้อยที่ปามุกกาเลคลุมเนื้อที่ยาวเกือบ 2.5 กม. และกว้าง 500 ม. เกิดจากน้ำพุร้อนของภูเขาไฟที่พุพุ่งขึ้นมาสู่ที่ราบสูงเบื้องบน น้ำที่พุขึ้นมานั้นเต็มไปด้วยหินปูนและแร่ธาตุ ซึ่งถูกน้ำฝนกัดเซาะจากหิน พาซึมผ่านพื้นดินลงไปยังแหล่งน้ำพุ
ทุกสิ่งทุกอย่างที่จมลงไปในน้ำพุจะถูกหินปูนในน้ำจับเป็นคราบ แล้วกลายเป็นหินภายในเวลาไม่กี่วัน ครั้นเมื่อนำพุไหลพ้นขอบที่ราบสูงก็จะทิ้งคราบหินปูนสะสมไว้ตามไหล่เขา หลายพันปีล่วงไปหินปูนจึงพอกพูนชั้นแล้วชั้นเล่าจนกลายเป็นแผ่นผา เนินลาด และม่านหินขาววาวแวว
นับพันปีมาแล้ว น้ำพุร้อนที่อุดมด้วยแร่ธาตุแห่งนี้มีชื่อเสียงเรื่องการบำบัดโรคต่างๆ เช่น โรคไขข้อ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ กิตติศัพท์ของน้ำพุปรากฏค่อนข้างแน่นอนในปี 190 ก่อนคริตส์กาล เชื่อกันว่าในช่วงนั้น ยูมีนีสที่ 2 กษัตริย์กรีกแห่งเมืองเปอร์กามัน ซึ่งตั่งอยู่ใต้ชายฝั่งตะวันตกของตุรกีได้ทรงสร้างเมืองไว้เหนือที่ราบสูงที่น้ำพุพุ่งขึ้นมา ทรงขนานนามนครแห่งนี้ว่า เฮียราโพลิส ตามชื่อเฮียราภรรยาของเทเลฟุส ผู้สร้างเมืองเปอร์กามัมตามตำนาน
จนมาถึง 129 ปีก่อนคริสตกาล เมืองเฮียราโพลิสกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน และเป็นสถานอาบน้ำแร่ที่นอยมกันมากในยุดจักรวรรดิ จักรพรรดิต่างๆ รวมทั้งเนโรและฮาเดรียน ได้เสด็จมาสรงและเสวยน้ำแร่ที่นี่ ในรัชสมัยของเนโรเมื่อปี ค.ศ.60 เกิดแผ่นดินไหวทำลายเมืองเก่าพังพอนาศ เมืองใหม่ซึ่งสร้างขึ้นแทนที่นั้นใหญ่โตและงดงามกว่าเดิม มีถนนกว้างขวาง โรงละคร โรงอาบน้ำสาธารณะ แม้แต่บ้านเรือนยังใช้น้ำอุ่นที่ส่งมาตามราง
โรงอาบน้ำในศตวรรษที่ 2 มีห้องต่างๆ ซึ่งอุณหภูมิของน้ำแตกต่างกันไป เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้ใช้สลับกัน ผู้อาบน้ำจะเริ่มอาบจากห้องน้ำเย็นต่อด้วยห้องน้ำอุ่นที่ซึ่งเขาจะใช้น้ำมันทาตัว แล้วจึงย้ายไปยังห้องน้ำร้อนที่กรุ่นเป็นไอ เขาจะใช้เครื่องมือที่มีใบมีดโค้งขัดถูกน้ำมันและคราบไคลออกจากผิวกาย ปัจจุบันส่วนหนึ่งของโรงอาบน้ำเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์รวบรวมรูปแกะสลักกันงดงาม ตลอดจนของล้ำค่าอื่นๆ รวมทั้งเครื่องมือแพทย์และอัญมณี
โบราณสถานที่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองนี้คือวิหารพลูโต เทพเจ้าแห่งโลกบาดาล ซึ่งตั้งอยู่ติดกับวิหารอพอลโล ผู้เป็นสุริยเทพและเทพแห่งดนตรี บทกวี และการแพทย์ วิหารทั้งสองสร้างชิดเคียงกันเพื่อให้พลังแห่งแสงสว่างและอำนาจมืดของเทพทั้งสององค์หักล้างกันเอง
อำนาจมือของเทพพลูโตนั้นคงจะต้องน่าสะพรึงกลัวจริงๆ เพราะสิ่งที่ฟุ้งกระจายออกจากถ้าแห่งหนึ่งในบริเวณนั้นคือควันพิษ ซึ่งสตราโบนักภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ชาวกรีก กล่าวว่าสามารถคร่ำชีวิตวัวได้ในทันที ควันนั้นเกี่ยวข้องกับวิญญาณชั่วร้าย กล่าวกันว่ามีเพียงพวกพระขันทีเฝ้าประจำหน้าถ้ำเท่านั้นที่สามารถเข้าไปในถ้ำได้โดยปราศจากภยันตราย ปัจจุบันทราบกันแล้วว่าควันดังกล่าวมาจากน้ำพุร้อนและถ้ำนั้นยังปล่อยไอระเหยซึ่งทำให้เคืองตาจนน้ำตาไหลด้วย
นิวาสถานในภพหน้า
นอกกำแพงเมืองเก่ามีสุสานใหญ่ มีหลุมฝังศพ 1,200 หลุม หลุมศพมากมายตกแต่งอย่างประณีตและมีขนาดมหึมา สุสานแห่งนี้เป็นประจักษ์พยานถึงสมัยที่ชาวโรมันผู้มั่งคั่งจำนวนมาก มุ่งมายังเมืองนี้ด้วยความหวังจะรักษาอาการป่วยไข้แต่ก็ไม่หาย
ทุกวันนี้บรรดานักท่องเที่ยวเป็นเสมือนผู้สืบทอดการมาเยือนปามุคคาเล (pamukkale) ต่อจากคหบดีชาวโรมัน พวกเขาพากันมาพักผ่อนในวันว่าง มาลงอาบน้ำในสระน้ำอุ่น ซึ่งสระแห่งหนึ่งยังมีซากเสาโรมันจมอยู่ พวกเขามาตื่นตาตื่นในกับเนินลาดสีขาววาวระนับ ทอดตัวอยู่บนไหล่เขาเบื้องล่างของซากเมืองที่ปรับหักพัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น